Forward Points คืออะไร

สัญญา FX forward คือ สัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศในอนาคตที่อัตราแลกเปลี่ยนซึ่งกำหนดไว้ล่วงหน้าตั้งแต่วันนี้ (forward rate) อย่างไรก็ดี ในการทำธุรกรรม forward กับธนาคาร ธนาคารจะเสนอราคาเป็น forward points ซึ่งลูกค้าต้องเอาไปบวกรวมกับอัตราแลกเปลี่ยนของวันนี้ (spot rate) จึงจะทราบว่า forward rate ที่ลูกค้าได้รับสำหรับการซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศในอนาคตเป็นเท่าไร ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้ทั้งสัญญา forward ด้านซื้อเงินตราต่างประเทศ (สำหรับผู้ที่มีภาระชำระเงินสกุลต่างประเทศ เช่น ผู้นำเข้า) และทำสัญญา forward ด้านขายเงินตราต่างประเทศ (สำหรับผู้ที่จะได้รับชำระเงินสกุลต่างประเทศ เช่น ผู้ส่งออก) โดยลูกค้าสามารถระบุวันส่งมอบกับธนาคารได้

สูตรคำนวณ Forward rate

Forward Rate

อัตรแลกเปลี่ยนล่วงหน้า

=

Spot Rate

อัตราแลกเปลี่ยน ณ ปัจจุบัน

+

Forward Point*

สะท้อนส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย 2 สกุล

Forward rate คือ อัตราแลกเปลี่ยนที่ลูกค้ากับธนาคารตกลงกันในวันนี้เพื่อทำการส่งมอบการซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศในอนาคต

Spot rate คือ อัตราแลกเปลี่ยน ณ ปัจจุบัน ซึ่งลูกค้าสามารถสอบถามได้จากธนาคารที่ต้องการทำธุรกรรมด้วย

Forward points คือ ค่าที่สะท้อนส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงิน 2 สกุล ซึ่งมาจากหลักการที่ว่าการฝากเงิน 2 สกุลเป็นเวลาเท่ากัน ควรจะได้รับผลตอบแทนเท่ากัน ดังนั้น หากเงิน 2 สกุลมีอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกัน อัตราแลกเปลี่ยนในอนาคตของเงิน 2 สกุลดังกล่าวจะเป็นตัวปรับเพื่อชดเชยความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเงินสกุลที่อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า จะแข็งค่าขึ้นเป็นการชดเชยกับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่น้อยกว่า หรือสามารถอธิบายเป็นสูตรคำนวณอย่างง่ายได้ดังนี้

Forward Points = อัตราแลกเปลี่ยน ณ ปัจจุบัน x (อัตราดอกเบี้ยสกุลเงินบาท – อัตราดอกเบี้ยสกุลเงินดอลลาร์ สรอ.) x (จำนวนวันของธุรกรรม/360)

ดังนั้น Forward Points จึงสามารถเป็นได้ทั้ง ค่าบวก ค่าลบ และศูนย์ ขึ้นกับว่าอัตราดอกเบี้ยของเงินสกุลใดสูงหรือต่ำกว่ากัน (ตัวอย่างในตารางเป็นกรณีสกุลเงินบาทและเงินดอลลาร์ สรอ.)

อัตราดอกเบี้ย Forward Points อัตราแลกเปลี่ยน
อัตราดอกเบี้ยสกุลเงินบาท > อัตราดอกเบี้ยสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. + (Premium) เงินบาทอ่อนค่าลง
อัตราดอกเบี้ยสกุลเงินบาท < อัตราดอกเบี้ยสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. - (Discount) เงินบาทแข็งค่าขึ้น
อัตราดอกเบี้ยสกุลเงินบาท = อัตราดอกเบี้ยสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. 0 (Par) ไม่เปลี่ยนแปลง

ในการทำธุรกรรมจริง ยังมีปัจจัยอื่นนอกเหนือจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารใช้ประกอบในการกำหนด forward points ให้ลูกค้า ซึ่งทำให้ forward points ของลูกค้าแต่ละรายหรือแต่ละสัญญาแตกต่างกัน เช่น

1. ความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้า: ในการทำธุรกรรม forward ธนาคารมีความเสี่ยงที่ลูกค้าซึ่งเป็นคู่สัญญาอาจไม่ส่งมอบหรือไม่ชำระราคาเมื่อครบกำหนด ดังนั้น ธนาคารจึงกำหนดให้ลูกค้าต้องวางหลักประกันเพื่อมีวงเงินเครดิต (credit line) กับธนาคาร นอกจากนี้ ธนาคารอาจลด/เพิ่มค่า forward points ให้กับลูกค้าเพื่อรองรับความเสี่ยงดังกล่าวไว้ด้วย (ลด forward points ให้กับผู้ส่งออกซึ่งทำให้ได้รับเงินบาทน้อยลง ขณะที่เพิ่ม forward points ให้กับผู้นำเข้าซึ่งทำให้จ่ายเงินบาทเพิ่มขึ้น)

2. จำนวนวันของธุรกรรม: ค่า forward points จะปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับจำนวนวันในการทำธุรกรรม เช่นค่า forward points ของธุรกรรมระยะ 1 เดือนจะน้อยกว่าค่า forward points ของธุรกรรมระยะ 6 เดือน นอกจากนี้ ค่า forward points ของธุรกรรมระยะ 1 เดือน ยังขึ้นกับจำนวนวันที่นับ ได้จริงด้วย เช่น 29 วัน 30 วัน หรือ 31 วัน

3. อำนาจการต่อรองของลูกค้า: ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับความถี่ในการทำธุรกรรม ขนาดของธุรกรรม ความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและธนาคารรวมไปถึงการแข่งขันในการให้ราคา forward points ของแต่ละธนาคาร

4. ลักษณะเพิ่มเติมของธุรกรรม forward: เช่น ในกรณีที่ลูกค้าต้องการความยืดหยุ่นเรื่องวันที่ส่งมอบ ลูกค้าสามารถเลือกทำธุรกรรม forward แบบที่จองเป็น ช่วงระยะเวลาที่คาดว่าจะมาใช้สัญญา (pro-rate หรือ pro-rata forward) ซึ่งทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงมากกว่า เมื่อเทียบกับธุรกรรม forward ที่กำหนดวันส่งมอบไว้ชัดเจน (fixed date หรือ outright forward) ดังนั้น ค่า forward points ของ pro-rate forward จะต้องสะท้อนความ ไม่แน่นอนของวันที่ส่งมอบรวมอยู่ด้วย กล่าวคือ สำหรับลูกค้าผู้ส่งออกเมื่อขายเงินตราต่างประเทศ จะได้รับเงินบาทได้น้อยกว่าการทำ fixed date forward (forward points ของ pro-rate forward มีค่าน้อยกว่า forward points ของ fixed date forward) ในทางกลับกัน สำหรับลูกค้าผู้นำเข้า เมื่อซื้อเงินตราต่างประเทศ จะต้องจ่ายเงินบาทในจำนวนที่มากกว่าการทำ fixed date forward (forward points ของ pro-rate forward มีค่ามากกว่า forward points ของ fixed date forward)

5. ต้นทุนของธนาคาร: ธนาคารแต่ละแห่งมีต้นทุนในการทำธุรกรรมและบริหารความเสี่ยงเงินตราต่างประเทศที่แตกต่างกัน การกำหนดราคา forward points ที่เสนอให้กับลูกค้าจึงแตกต่างกันด้วย